
การขนส่งและกระจายสินค้า

การขนส่งทางน้ำ
บริษัทมีการใช้บริการการขนส่งทางน้ำโดยว่าจ้างผู้ให้บริการเรือขนส่งที่เป็นบุคคลภายนอกเพื่อบริหารการจัดการขนส่งเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีปริมาณมาก และทำการขนส่งในระยะไกล ซึ่งสามารถแบ่งการขนส่งออกเป็น
-
การขนส่งภายในประเทศ บริษัทมีการจัดหาและรวบรวมเชื้อเพลิงชีวมวลจากแหล่ง Supplier ในภาคใต้ โดยจะทำการรวบรวมเชื้อเพลิงชีวมวล และเก็บในคลังสินค้าของบริษัทให้มีปริมาณมากพอ และทำการว่าจ้างเรือขนส่ง เพื่อขนส่งมายังคลังสินค้าบริเวณภาคกลางของประเทศ เพื่อให้สามารถกระจายสินค้าให้กับลูกค้าของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเรือที่ใช้ในการขนส่งในประเทศส่วนมากจะเป็นเรือมอเตอร์บาร์จ (Motor Barge) ขนาดระวางประมาณ 1,000 ตัน และเรือโป๊ะ (Lighter) ขนาดระวางประมาณ 5,000 ตัน โดยเมื่อสินค้าถึงท่าเรือแล้ว บริษัทจะว่าจ้างรถขนส่งมาเพื่อขนส่งสินค้าต่อไปยังคลังสินค้าของบริษัทหรือส่งตรงไปยังคลังสินค้าของลูกค้า
-
การขนส่งระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็น
-
การขนส่งสินค้าจากคลังสินค้าของบริษัทให้ลูกค้าต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นแบบ FOB (Free on Board) ในกรณีที่การขายสินค้าของบริษัทให้กับลูกค้าต่างประเทศเป็นเงื่อนไขการซื้อขายแบบ CIF (Cost, Insurance and Freight) หรือ CFR (Cost and Freight) บริษัทจึงจัดหาเรือขนส่งเพื่อขนส่งสินค้าให้กับลูกค้าตามปริมาณและเวลาที่กำหนด
-
การขนส่งสินค้าจากคลังสินค้าของบริษัทในต่างประเทศเพื่อเข้าคลังสินค้าของบริษัทหรือลูกค้าในประเทศไทย บริษัทนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศ ในกรณีที่สินค้าในประเทศมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ
-
เรือที่บริษัทจัดหาเพื่อใช้ขนส่งระหว่างประเทศส่วนมากจะเป็นเรือ Barge ขนาดใหญ่ซึ่งมีขนาดประมาณ 8,000 ถึง 30,000 ตัน
2.4.3 การจัดเก็บสินค้า
บริษัทและบริษัทย่อยมีคลังสินค้าเพื่อจัดเก็บผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวมวลที่บริษัทและบริษัทย่อยจัดหามาได้ โดยมีทั้งคลังสินค้าที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท และเช่า รวม 8 แห่ง โดยเป็นคลังสินค้าในประเทศ 4 แห่ง และคลังสินค้าต่างประเทศ 4 แห่ง ดังนี้
คลังสินค้า |
พื้นที่ (ตร.ม.) |
ความจุ1/ (ตัน) |
กรรมสิทธิ์ |
1.คลังสินค้าบางกุ้ง จ.สุราษฎร์ธานี |
43,000 |
100,000 |
เป็นเจ้าของ |
2.คลังสินค้าบางน้ำจืด จ.สมุทรสาคร |
25,848 |
40,000 |
เป็นเจ้าของ |
3.คลังสินค้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา |
8,800 |
25,000 |
เช่า |
4.คลังสินค้าลำปาง จ.ลำปาง2/ |
895 |
300 |
เช่า |
5.คลังสินค้า Bintulu ประเทศมาเลเซีย |
12,500 |
20,000 |
เช่า |
6.คลังสินค้า Kuching ประเทศมาเลเซีย |
10,500 |
20,000 |
เช่า |
7.คลังสินค้า Sandakan ประเทศมาเลเซีย |
7,500 |
20,000 |
เช่า |
8.คลังสินค้า Jambi ประเทศอินโดนีเซีย |
5,000 |
15,000 |
เช่า |
หมายเหตุ: 1/ พื้นที่คลังสินค้าและความจุอาจไม่สัมพันธ์กัน เนื่องจากขึ้นกับปัจจัยอื่นๆดังนี้ (1) ประเภทของสิ่งก่อสร้างในที่ตั้งคลังสินค้า เช่นโกดัง หรือลานเทกอง (2) ความสูงของหลังคา (3) ขนาดของสำนักงานและพื้นที่ส่วนอื่นๆที่ไม่ได้ใช้สำหรับจัดเก็บสินค้า 2/ คลังสินค้าลำปางและคลังสินค้า Jambi อยู่ระหว่างดำเนินการหาพื้นที่เช่าใหม่
บริษัทจะพิจารณาทำเลที่ตั้งคลังสินค้าให้ใกล้กับ Supplier และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อให้การจัดเก็บและการขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ นอกจากคลังสินค้าบางกุ้ง และคลังสินค้าบางน้ำจืดที่บริษัทลงทุนเป็นเจ้าของที่ดิน บริษัทได้ดำเนินการเช่าที่ดินสำหรับคลังสินค้าอื่น เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ ซึ่งฝ่ายบริหารจะมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมทั้งในแง่ที่ตั้ง ต้นทุนค่าขนส่ง และต้นทุนค่าเช่าอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีที่ตั้งใหม่ที่มีศักยภาพมากกว่าที่ตั้งเดิม ก็จะพิจารณาย้ายที่ตั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารจัดการคลังสินค้า โดยสามารถแสดงภาพคลังสินค้าของบริษัทเทียบกับแผนที่การใช้พลังงานความร้อนจากชีวมวลในประเทศไทยปี 2558 และกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลในแต่ละภาคได้ดังนี้
ที่มา: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
คลังสินค้าถือเป็นปัจจัยที่ช่วยให้กระบวนการจัดหาและจัดจำหน่ายของบริษัทและบริษัทย่อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ประโยชน์ของคลังสินค้าที่มีต่อการดำเนินธุรกิจ มีดังนี้
-
บริษัทและบริษัทย่อยสามารถสำรองสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า และสามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ตลอดทั้งปี
-
บริษัทและบริษัทย่อยสามารถบริหารต้นทุนของสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของความสามารถในการจัดเก็บสินค้าเมื่อสินค้ามีราคาลดต่ำลง การจัดเก็บสินค้าเพื่อรอการขนส่งในปริมาณมาก ทำให้ต้นทุนการขนส่งต่อเที่ยวลดลง และการรองรับและจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าในพื้นที่ใกล้เคียง
-
บริษัทและบริษัทย่อยสามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าที่จะส่งให้ลูกค้าได้ เนื่องจากสินค้าบางประเภทจะต้องผ่านการจัดเกรด และผ่านขั้นตอนคัดแยกก่อนส่งให้ลูกค้า
การจัดเก็บสินค้าจะเก็บเป็นแบบการเทกอง ยกเว้นชีวมวลอัดแท่งที่จะเก็บอยู่ในถุงขนาดใหญ่ (Big bag) วางเรียงกัน โดยสินค้าที่ไม่สามารถถูกน้ำได้ เช่น ขี้กบ ขี้เลื่อย ฝุ่นไม้จะถูกเก็บอยู่ในโกดังเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า คลังสินค้าของบริษัทและบริษัทย่อยจะมีการทำผังสินค้า เพื่อจัดแยกสินค้าตามประเภทและจัดเรียงสินค้าแบบเข้าก่อน-ออกก่อน (FIFO) สินค้าที่จัดเก็บในคลังสินค้าจะต้องมีการดูแลคุณภาพสินค้าสม่ำเสมอเพื่อให้พร้อมที่จะจัดส่งให้กับลูกค้าได้ทันตามกำหนดเวลา โดยสินค้าที่กองกลางแจ้งจะดูแลให้มีการคลุมผ้าใบในกรณีที่ฝนตก เพื่อรักษาความชื้นของสินค้าให้อยู่ในระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา และมีการโกยพลิกกองสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการเก็บความร้อนไว้ภายในกองมากเกินไป
นอกจากนี้ แผนกคลังสินค้าของบริษัทและบริษัทย่อยมีการทำแผนการตรวจสอบปริมาณสินค้าคงคลังของสินค้าในคลังสินค้า โดยจะมีการตรวจสอบปริมาณสินค้าคงคลังของบริษัทและบริษัทย่อยเป็นประจำดังนี้
-
ตรวจสอบปริมาณสินค้าโดยบริษัทและบริษัทย่อย ซึ่งดำเนินการโดยฝ่ายบัญชีร่วมกับแผนกคลังสินค้าในการตรวจสอบปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในคลังสินค้ากับยอดที่บันทึกอยู่ในระบบ โดยใช้วิธีการประเมินทางกายภาพ โดยจะทำการตรวจสอบทุก 1 เดือน และทุกครั้งที่ล็อตของสินค้าถูกใช้หมดไป
-
ตรวจสอบปริมาณสินค้าคงคลังโดยผู้ตรวจสอบภายนอก (Surveyor) เป็นประจำปีละ 2 ครั้ง คือกลางปีและปลายปี ซึ่งผู้ตรวจสอบภายนอกจะใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการบันทึกรูปร่างของกองสินค้าแต่ละกอง และวัดเป็น 3 ค่า คือความกว้าง ความยาว ความสูง และใช้ซอฟท์แวร์คำนวณหาปริมาณ ซึ่งได้คำนึงถึงความชื้นของผลิตภัณฑ์จากตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เก็บไว้ในวันตรวจสอบ